HomeAbout usNewsPaperPresentationLibraryGraduate School at KU
 
 
 
 
วิศวฯ มก. - โยธา-ทรัพยากรน้ำ-ไฟฟ้า
บูรณาการความรู้ สร้างแบบจำลองเตือนภัยน้ำท่วม-ดินถล่มแบบ Real-Time
 
 

                คณะวิศวกรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะวิทยาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  (มก.) ร่วมแสดงศักยภาพบูรณาการความรู้ในการศึกษาวิจัย การศึกษาพฤติกรรมการเกิดน้ำท่วม-ดินถล่มในพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างแบบจำลองสำหรับกำหนดเกณฑ์และวิธีการในการเตือนภัยน้ำท่วม-ดินถล่ม โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จำนวน 5 ล้านบาท  การร่วมมือดังกล่าวนำไปสู่การใช้งานจริงในพื้นที่เกิดภัยพิบัติ พร้อมขยายผลสู่พื้นที่ที่มีปัจจัยการเกิดภัยจากสาเหตุการพัฒนาเมืองและการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรม

                การศึกษาวิจัยเรื่องพิบัติภัยน้ำท่วม-ดินถล่มในอดีต ได้แยกการศึกษาอย่างชัดเจน เนื่องจากทั้งสองภัยพิบัติต้องการพื้นฐานทางทฤษฎีที่แตกต่างกัน ในการศึกษาเรื่องน้ำท่วมต้องใช้ทฤษฎีทางวิศวกรรมชลศาสตร์ ในขณะที่การศึกษาเรื่องดินถล่มจำเป็นต้องใช้ทฤษฎีด้านปฐพีกลศาสตร์ แต่ในการศึกษาวิจัยทั้ง 2 เรื่อง ได้ใช้ปัจจัยดัชนีความชุ่มชื้นในมวลดิน (Antecedent Precipitation Index: API) ในการเตือนภัยน้ำท่วมและดินถล่มเหมือนกัน การร่วมมือบูรณาการความรู้ระหว่างภาควิชาวิศวกรรมโยธา ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ มก. จึงเกิดขึ้น

ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาวิศวกรรมปฐพีและฐานราก ภาควิชาวิศวกรรมโยธา กล่าวว่า ”ศูนย์วิจัยฯ ได้ร่วมกับ 2 หน่วยงานของ มก. ที่มีความเชี่ยวชาญในการศึกษาวิจัยในเรื่องเกี่ยวกับพิบัติภัยน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง คือ หน่วยวิจัยเทคโนโลยีธรณีสิ่งแวดล้อมและพิบัติภัยจากธรรมชาติ ภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ และภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ บูรณาการความรู้ศึกษาพฤติกรรมการเกิดน้ำท่วม-ดินถล่ม ในพื้นที่ต้นแบบเพื่อสร้างแบบจำลองสำหรับกำหนดกฎเกณฑ์และวิธีการในการเตือนภัย ระยะที่ 2 ขึ้น”

                การศึกษาวิจัยดังกล่าวแต่ละหน่วยงานมีการศึกษาเพิ่มเติมและแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้ทำการเก็บข้อมูลศึกษาในเชิงลึก ภายใต้แผนงานวิจัย 3 โครงการ ประกอบด้วย โครงการการศึกษาเพื่อปรับปรุงแบบจำลองดัชนีความชุ่มชื้นของดินวิกฤติสำหรับการเตือนภัยดินถล่มและลดผลกระทบจากดินถล่มเชิงวิศวกรรม โครงการคาดการณ์ปริมาณฝนมากเกินไปเพื่อเตือนภัยพิบัติจากแผ่นดินถล่มบริเวณป่าตอง จ.ภูเก็ต และตำบลแม่พูล จ.อุตรดิตถ์ และโครงการการพยากรณ์ปริมาณน้ำท่าของลุ่มน้ำเพื่อการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังและการเตือนภัยจากน้ำท่วมฉับพลัน

                ผศ.ดร.สุทธิศักดิ์ฯ กล่าวต่อว่า “การดำเนินการวิจัยของทั้ง 3 โครงการ ได้รับความร่วมมือจากศูนย์บริการวิชาการและเผยแพร่ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมอุตุนิยมวิทยาด้วยระบบ DVB-S ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ให้ข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม FY-2C ซึ่งส่งตรงมาจากประเทศจีนทุกๆ 30 นาที เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการคาดคะเนปริมาณน้ำฝนที่จะตกและนำข้อมูลคุณสมบัติดินทางวิศวกรรมและข้อมูลภูมิอากาศที่ได้จากภาพถ่าย มาปรับใช้ร่วมกับแบบจำลองดัชนีความชุ่มชื้นของดินวิกฤติ จากค่า APIcr   การคาดคะเนปริมาณฝนที่จะตกในแต่ละพื้นที่ใช้ร่วมกับสภาพภูมิอากาศเพื่อเตือนภัยล่วงหน้า รวมถึงเพื่อการคาดคะเนปริมาณฝนที่จะตกเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำท่าของลุ่มน้ำ ข้อมูลอุทกวิทยา เพื่อพัฒนาแบบจำลองคณิตศาสตร์สำหรับการพยากรณ์ปริมาณน้ำท่าให้มีความถูกต้อง เพื่อเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลัน

                จากแผนงานการวิจัยมีการใช้ข้อมูลของแต่ละหน่วยงานร่วมกัน เพื่อพัฒนาแบบจำลองที่เคยคิดค้นไว้ให้มีความถูกต้อง ครอบคลุมทั้งน้ำท่วม-ดินถล่ม เพื่อให้หน่วยงานที่จัดการภัยพิบัติด้านการป้องกันและเตือนภัยน้ำท่วมและดินถล่มสามารถนำไปใช้ในการเตือนภัยแบบ Real-Time ได้จริง”

                เมื่อถึงวันที่งานวิจัยนี้เสร็จสิ้น จะทำให้เกิดวิธีการและเกณฑ์ในการเตือนภัยโดยค่า API เพื่อนำไปใช้ในการเตือนภัยในหมู่บ้านเสี่ยงภัยดินถล่มของกรมทรัพยากรน้ำและระบบเตือนภัยน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มในพื้นที่ศึกษา    คือ   ตำบลป่าตอง จ.ภูเก็ต และตำบลแม่พูล จ.อุตรดิตถ์ แบบ Real Time โดยแจ้งเตือนภัยก่อนล่วงหน้า 1 ชั่วโมง ซึ่งข้อมูลที่ได้จากพื้นที่ดังกล่าว จะสามารถนำไปเป็นต้นแบบการจัดการภัยน้ำท่วมฉับพลันและดินถล่มสำหรับพื้นที่ที่มีปัจจัยการเกิดภัยจากสาเหตุพัฒนาเมืองและสาเหตุการพัฒนาพื้นที่เกษตรกรรมต่อไป...............